ความสำคัญของการทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือวัด
ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่างมองหาช่องทางในการขยายธุรกิจให้เติบโต ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน และการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่เศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมโดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจทุกมิติ
จากคำกล่าวของ ดร.พิเชฐ ดุรงค์เวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าปัจจุบันรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นแรงขับเคลื่อนเป้าหมายของการพัฒนาขีดความสามารถของการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง หรือประเทศที่พัฒนาแล้วได้ (รายงานประจำปี 2558 มาตรวิทยาแห่งชาติ หน้า 19)
การทดสอบ และสอบเทียบเครื่องมือวัด ซึ่งมีพื้นฐานมาจากมาตรวิทยา (metrology) และระบบการวัด (measurement system) ที่เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งระบบการวัดเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในแทบทุกด้าน เช่น การชั่ง ตวง วัด สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ การตรวจสอบคุณภาพ ทั้งในเชิงกายภาพ และเชิงเคมีของวัสดุที่ใช้ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ การวัดสัดส่วนของส่วนประกอบในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซที่ใช้ในรถยนต์ อุตสาหกรรม หรือภาคครัวเรือน รวมถึงปริมาตร และการรักษาเวลามาตรฐานสากล เพื่อความสอดคล้องกันในการติดต่อสื่อสาร และเชื่อมโยงระบบ
เทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร ในด้านเศรษฐกิจ ระบบมาตรวิทยาที่มีความถูกต้องแม่นยำและมีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งสามารถช่วยให้กระบวนการผลิตและการค้าสินค้าขั้นกลางมีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนทางธุรกรรม (transaction cost) ต่ำ รวมไปถึงการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการค้า และการแลกเปลี่ยนสินค้าขั้นกลาง ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกและความสามารถในการตรวจสอบมาตรฐานการผลิต ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบการวัดจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านนี้ได้ กอปรกับปัจจุบันการเชื่อมโยง ระบบเศรษฐกิจส่งผลจากการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งเป็นส่วนเริ่มต้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้การค้าระหว่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น ข้อจำกัดด้านการนำเข้าและส่งออกน้อยลง แต่ข้อจำกัดด้านเทคนิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานสินค้ากลับมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทำให้การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและระบบการวัดยิ่งทวีความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น (โครงการผลกระทบทางเศรษฐกิจและบทบาทระบบมาตรวิทยาในประเทศไทย, 2557)
จากที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่า การทดสอบและการสอบเทียบเครื่องมือวัด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมในระดับต้นๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาด้านเทคโนโลยียานยนต์ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่น ๆ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปาทานของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จากเป้าหมายในอดีตที่พัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงเริ่มต้น เพื่อลดการนำเข้า มาสู่ในช่วงกลาง ระหว่างพ.ศ. 2520-2540 จากงานวิจัยของ ( อนุสรณ์ ทนหมื่นไวย, 2556 หน้า 36) พบว่า พ.ศ. 2556 ประเทศไทยได้ขึ้นแท่นผู้ผลิตรถยนต์เป็นอันดับ 10 ของโลกได้สำเร็จ โดยมีการผลิตรถยนต์ถึง 2.45 ล้านคันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดในรอบประวัติศาสตร์ 51 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากนโยบายทุกรัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการลงทุนในทุก ๆ ด้าน ในอนาคตประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์เป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2560
ผลจากการศึกษาของ Swann (2009) ได้ระบุถึงผลกระทบของการวัด ว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจุลภาค (microeconamics) ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขององค์กรได้ เห็นได้จากกระบวนการผลิตที่มีการแบ่งส่วนงานกันนั้น และการที่ส่วนงานต่างๆ จะมาเชื่อมต่อกันได้จำเป็นต้องมีการวัดที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการวัดจึงเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมกระบวนการผลิตต่างๆ การวัดยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรม และเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ว่ามีคุณสมบัติที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่นอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นการวัดยังช่วยลดต้นทุนธุรกรรมระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ซึ่งหากผู้ซื้อไม่ทราบถึงคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้าแล้วก็ไม่อาจที่จะแบ่งแยกคุณภาพของสินค้าต่างๆ ได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Choudary et al., (2006) ที่เพิ่มเติมถึงความสำคัญของการวัดต่อระบบเศรษฐกิจไว้ว่ากิจกรรมการวัด ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ (product differentiation) ในการสร้างความแตกต่างของผลผลิตบนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะ การวัดลักษณะเฉพาะดังกล่าวจะต้องเป็นไปได้ และจะต้องทำอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานที่ผู้ผลิตเข้าใจร่วมกัน ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการวัดจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เกิดการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในตลาด
ปัจจุบันมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในการจัดทำระบบคุณภาพสำหรับห้องปฏิบัติการ คือ มาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 เป็นข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือวัด ซึ่งทำให้องค์การเป็นที่ยอมรับของลูกค้า เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในผลการทดสอบและการสอบเทียบ ซึ่งสามารถทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน ช่วยขจัดปัญหาทางวิชาการ ในการกีดกันทางการค้าได้ ผลการทดสอบเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และช่วยขจัดปัญหาการตรวจสอบซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจบริการทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือวัด จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริการทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือวัด จากงานวิจัยจากโครงการผลกระทบทางเศรษฐกิจและบทบาทระบบมาตรวิทยาในประเทศไทย, 2557 หน้า 4 ได้ระบุในเรื่องของการแข่งขันด้านราคาที่ค่อนข้างสูงมากในตลาดของห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือวัด ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเชิงคุณภาพ ในแง่ของมาตรฐานของการวัดที่มีคุณภาพตามไปด้วย เป็นผลให้ลูกค้าขาดความต่อเนื่องของความสัมพันธ์ในการใช้บริการกับบริษัทผู้ให้บริการรายเดิมจากความสัมพันธ์ของปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยต่อกระบวนการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิต และการดำเนินงาน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการทดสอบและสอบเทียเครื่องมือวัด บ เพื่อประกันความถูกต้อง ความเที่ยง ความน่าเชื่อถือ และตรงมาตรฐานตามที่ตกลงและกำหนดไว้
ISO /IEC 17025 คือ มาตรฐานสากลซึ่งเป็นการประเมินความสามารถทางวิชาการของห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 ครอบคลุมทุกด้านของการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่การเตรียมตัวอย่างถึงความชำนาญในการวิเคราะห์ทดสอบ ถึงการเก็บบันทึกและการรายงานผล มาตรฐานนี้เน้นองค์ประกอบหลายด้านแต่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ด้านเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการ การควบคุมเอกสาร การปฏิบัติการแก้ไขและป้องกัน สถานที่และภาวะแวดล้อม เครื่องมือ การประมาณค่าความไม่แน่นอน หลักฐานความสอบกลับได้ การสุ่มตัวอย่างและอื่นๆ
โครงสร้างพื้นฐานเชิงคุณภาพของประเทศ (national quality infrastructure) ได้แก่ การกำหนดมาตรฐาน (standardization) ระบบมาตรวิทยา (metrology) การตรวจสอบรับรอง (conformity assessment) และการรับรองระบบงาน (accreditation)
การทดสอบและสอบเทียบ (testing and calibration) คือ กระบวนการทำงาน ภายใต้สภาวะที่ควบคุม ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างค่าที่วัดได้จากเครื่องมือวัดกับ ค่าที่แท้จริงจากมาตรฐานอ้างอิง ที่มีการสอบกลับได้ (traceability) กล่าวคือ การสอบเทียบ คือการเทียบผลการวัดกับค่ามาตรฐานที่รู้ค่าอย่างแท้จริง ค่ามาตรฐานที่รู้ค่าจริงนี้จะต้องเป็นแหล่งที่มาที่เป็นที่ยอมรับกัน ค่ามาตรฐานต่าง ๆ ถูกกำหนดขึ้นและยอมรับกันระหว่างประเทศต่างๆ ใช้อ้างอิง (reference) เป็นมาตรฐาน (standard) เดียวกัน ก็จะเป็น international standards และเป็น international traceability